วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Oryzias songkhramensis Magtoon,2010 พบปลาในนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ของโลก

ฮือฮา มศว. พบปลาน้อยสายพันธุ์ใหม่ สปี่ชี่ที่ 5 ในนาข้าว ยาว 1 ซม. กินตัวอ่อนยุง-แมลงศัตรูพืชเป็นอาหาร


วันนี้(23 ก.ค.)  รศ.ดร.วิเชียร มากตุ่น คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)  ในฐานะนักวิจัยด้านมีนะวิทยา ซึ่งค้นคว้าวิจัยด้านสายพันธุ์ปลา เปิดเผยว่า  ขณะนี้ มศว. ได้ค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ในนาข้าวของโลก ได้ตั้งชื่อว่า Oryzias songkhramensis Magtoon,2010  และยังไม่ได้ตั้งชื่อภาษาไทยซึ่งปลาดังกล่าวค้นพบในเขตลุ่มแม่น้ำโขง  เขตอำเภอรัตนวาปี จ.หนองคาย นอกจากนี้ยังพบปลาสายพันธุ์นี้ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือ บริเวณพื้นที่ลาวตอนกลาง  ทั้งนี้การค้นพบปลาสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวบ่งบอกให้เห็นถึงความสมบูรณ์ตาม ธรรมชาติในเขตลุ่มน้ำโขงในประเทศไทย   ส่วนลักษณะของปลาชนิดนี้จะเป็นปลาในนาข้าว ขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร  อาศัยอยู่กันเป็นฝูงและกินตัวอ่อนของพวกยุงเป็นอาหาร  และยังกินตัวอ่อนของแมลงบางชนิดที่เป็นศัตรูพืช  ซึ่งเป็นการควบคุมความสมดุลของธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงในนาข้าวมากจนเกินความจำเป็น



รศ.ดร.วิเชียว   กล่าวต่อไปว่า    ทุกวันนี้เราพบปลาในนาข้าวทั้งสิ้น 24 สปีชี่ จากทั่วโลก Oryzias songkhramensis Magtoon,2010  จึงถือเป็นสปีชี่ที่ 25ของโลก  และที่ผ่านมาประเทศไทยพบปลาในนาข้าวมาแล้วทั้งสิ้น 4 สปีชี่  หากรวมOryzias songkhramensis Magtoon,2010 ทำให้ประเทศไทยค้นพบปลาในนาข้าวทั้งสิ้น  5 สปีชี่  อย่างไรก็ตาม การค้นพบครั้งนี้จะทำให้วงการมีนะวิทยาเกิดการตื่นตัวมากขึ้น  และจะเป็นประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะด้านมีนะวิทยา ความรู้ทางด้านปลาในนาข้าว  และขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจอย่างมาก โดย มศว. มีความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น คือ ม.โตเกียว  ม.มินาฮาตะ และม.ชินชู ศึกษาปลาในนาข้าวในแถบทวีปเอเชียด้วย

“ทรัพยากรธรรมชาติของไทยมีหลายชนิดที่น่าสนใจและน่าศึกษา   ดังนั้นผมอยากให้คนไทยทุกคนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการช่วยกันรักษาแม่น้ำลุ่มน้ำเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และอย่านำปลาต่างถิ่นไปปล่อยลงในแม่น้ำ เพราะปลาต่างถิ่นจะมีลักษณะดุร้าย   และกัดปลาในพื้นถิ่น    ขณะนี้ปลาต่างถิ่นสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับลุ่มน้ำในประเทศไทยอย่างมาก เพราะปลาต่างถิ่นจะมากินไข่ปลาพื้นถิ่นสุดท้ายปลาพื้นถิ่นจะสูญพันธุ์ และส่งผลต่อระบบนิเวศวิทยา โรคระบาดต่างๆ จะเพิ่มและรุนแรงขึ้น เพราะระบบวงจรถูกทำลาย” รศ.ดร.วิเชียร กล่าว.


ขอบคุณที่มาจาก 

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=38&contentID=80289











> Credit : วิธีสร้าง WelCome Page บน Blogger Under Creative Commons License: Attribution