วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

Production of a frog farmer การเพาะกบ

กบ (Rana rugulosa) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ลำตัวค่อนข้างกลมรี มีขา 2 คู่ คู่หน้าสั้น คู่หลังยาว หัวมีส่วนกว้างมากกว่าความยาว จะงอยปากสั้นทู่ จมูกตั้งอยู่บริเวณโค้งตอนปลายชองจะงอยปาก นัยน์ตาโต และมีหนังตาปิดเปิดได้ ปากกว้างมีฟันเป็นแผ่นๆ อยู่บนกระดูกเพดาน ตัวผู้มีถุงเสียงอยู่ใต้คางและจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ขาคู่หน้าสั้นมีนิ้ว 4 นิ้ว ปลายนิ้วเป็นตุ่มกลม ขาคู่หลังยาว มี 5 นิ้ว ระหว่างนิ้วมีหนังเป็นพังผืด สีของลำตัวด้านหลังเป็นสีเขียวปนน้ำตาล มีจุดสีดำกระจายเป็นประจำทั่วตัว ตามธรรมชาติกบอยู่ตามลำห้วย หนอง บึง และท้องนา กบจะกินปลา กุ้ง แมลง และสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร แต่เนื่องจากสถานการณ์ความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่มีอัตราประชากรมนุษย์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และปริมาณความต้องการในการบริโภคเพิ่มขึ้นติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติหรือแม้แต่ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลงเป็นไปในลักษณะผกผัน โดยเฉพาะอาชีพเกษตรกรรมของพี่น้องเกษตรกรที่ต้องอาศัยความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติถึง 75 % นอกจากนั้นแล้วยังต้องพบกับความผิดหวังเมื่อจำหน่ายผลผลิตไม่ได้ราคา หรือถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกษตรกรต้องขวนขวายหาแนวทางในการประกอบอาชีพใหม่ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ เช่น การทำไร่นาสวนผสม การเลี้ยงกบ หรือสัตว์น้ำอื่นๆ แต่สำหรับการเลี้ยงกบนั้น ปัจจุบันเป็นที่สนใจของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะกบเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เวลาน้อย ลงทุนน้อย ดูแลรักษาง่าย และจำหน่ายได้ราคาคุ้มกับการลงทุน โดยเฉพาะในปัจจุบันมีตลาดต่างประเทศที่ต้องการสินค้ากบเปิดกว้างมากขึ้น กบนาที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรเมืองไทยจึงมีโอกาสส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศมากขึ้น เช่นกัน และสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่มีผู้หันมากเลี้ยงกบมากขึ้น เพราะปริมาณกบที่อยู่ตามแหล่งธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลงทุกที เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของกบถูกเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ รวมทั้งการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช การใช้ยากำจัดวัชพืช กำจัดปูนา ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำลายพันธุ์กบในธรรมชาติให้หมดสิ้นไปแต่ละปี ทั้งนี้รวมทั้งการจับกบมาจำหน่ายหรือการประกอบอาหาร โดยไม่มีการละเว้นกบเล็กกบน้อย เป็นการตัดหนทางการแพร่พันธุ์กบโดยสิ้นเชิงอีกด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ผู้เลี้ยงกบหลายรายก็ต้องประสบความล้มเหลวในการเพาะเลี้ยงกบ อันเนื่องจากการไม่เข้าใจการเลี้ยง โดยเฉพาะไม่เข้าใจในอุปนิสัยใจคอของกบ ซึ่งมีความสำคัญเพื่อประกอบการเลี้ยง เช่น กบมีนิสัยดุร้ายและชอบรังแกกัน การเลี้ยงกบคละกันโดยไม่คัดขนาดเท่าๆ กัน ในบ่อเดียวกัน เป็นเหตุให้กบใหญ่รังแกและกัดกินกบเล็กเป็นอาหาร หรือไม่รู้ว่านิสัยใจคอของกบเป็นสัตว์ที่ชอบอิสระเสรี เมื่อสภาพที่เลี้ยงมีลักษณะโปร่ง เช่น เป็นอวนไนลอนทำให้กบสามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอกมันจะกระตือรือร้นที่จะดิ้นรนหาทางออกไปสู่โลกภายนอก โดยจะกระโดดชนอวนไนลอนจนปากบาดเจ็บและเป็นแผล เป็นเหตุให้ลดการกินอาหารหรือถ้าเจ็บมากๆ ถึงกับกินอาหารไม่ได้เลยก็มี อย่างไรก้อตาม เอกสารคำแนะนำเรื่องการเลี้ยงกบนี้ จะแนะนำวิธีการเลี้ยงทั้งแบบกึ่งพัฒนา และการเลี้ยงแบบพัฒนา ซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อผู้ที่สนใจจะได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงแต่ละแบบเพื่อนำไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทุนทรัพย์และสิ่งแวดล้อมต่อไป


การเลือกสถานที่สร้างคอกกบหรือบ่อเลี้ยงกบ



1. ควรเป็นที่ที่อยู่ใกล้บ้าน สะดวกต่อการดูแลรักษา และป้องกันศัตรูได้



2. เป็นที่สูง ที่ดอน เพื่อป้องกันน้ำท่วม



3. พื้นที่ราบเสมอ สะดวกต่อการสร้างคอกและแอ่งน้ำในคอก



4. ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกต่อการถ่ายเทน้ำ



5. ให้ห่างจากถนน เพื่อป้องกันเสียงรบกวน กบจะได้พักผ่อนเต็มที่และโตเร็ว



บ่อหรือคอกเลี้ยงกบ



สถานที่ที่จะทำบ่อเลี้ยงกบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ่อปูนหรือคอกเลี้ยง จะต้องไม่ควรอยู่ไกลจากที่อยู่อาศัยมากนัก เพราะศัตรูของกบมีมาก โดยเฉพาะกบนั้น เมื่อตกใจเพราะมีภัยมา มันจะส่งเสียงร้องให้เจ้าของรู้เหมือนสัตว์อื่นๆ ศัตรูของกบส่วนมากได้แก่ งู นก หนู หมา แมว และที่สำคัญที่สุดได้แก่ คน ดังนั้น ถ้าบ่อเลี้ยงหรือคอกเลี้ยงกบ อยู่ห่างจากที่อยู่อาศัยมาก ก็จะถูกคนขโมยจับกบไปขายหมด นกนั้นมีทั้งกลางวันและกลางคืน นกกลางคืนโดยเฉพาะนกเค้าแมว สามารถลงไปอยู่ปะปนและจับกบกินอย่างง่ายดาย แมว นับว่ามีส่วนทำลายกบมาก เพราะถึงแม้มันจะจับกบกินเพียงตัวเดียวแล้วก้ออิ่ม แต่เมื่ออิ่มแล้วมันยังจับกบตัวอื่นๆ มาหยอกเล่นและทำให้กบตายในที่สุด



พันธุ์กบที่นำมาเลี้ยง



กบที่เหมาะสมจะนำมาเพาะเลี้ยงนี้ ได้แก่ กบนา ซึ่งถ้าเลี้ยงอย่างถูกต้องตามวิธีการและใช้เวลาเพียง 4 - 5 เดือน จะได้กบขนาด 4 - 5 ตัว/กก. เป็นกบที่มีความเจริญเติบโตเร็ว โดยมีอัตราการแลกเปลี่ยนอาหาร 3.4 กก. ได้เนื้อกบ 1 กก. ทั้งยังเป็นกบที่มีผู้นิยมนำไปประกอบอาหารบริโภคกันมากกว่ากบพันธุ์อื่นๆ ลักษณะของกบนานั้น ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย และ ส่วนที่เห็นได้ชัดก็คือ กบตัวผู้เมื่อจับพลิกหงายขึ้นจะเห็นมีกล่องเสียงอยู่ใต้คางแถวๆ มุมปากล่าง ทั้งสองข้าง ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวผู้จะเป็นผู้ส่งเสียงร้อง และในขณะที่ร้องนั้น ส่วนของกล่องเสียงจะพองโตและใส ส่วนตัวเมียนั้นจะมองไม่เห็นส่วนของกล่องเสียงดังกล่าว กบตัวเมียจะร้องแข่งกันแต่เสียงออกเบา ถ้าอยู่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ กบตัวเมียที่มีไข่แก่ (ท้องแก่) จะสังเกตเห็นส่วนของท้องบวมและใหญ่กว่าปกติ ขณะเดียวกันที่กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องบ่อยครั้งและสีของลำตัวออกเป็นสีเหลืองอ่อนหรือมีสีเหลืองที่ใต้ขาเห็นชัดกว่าตัวเมีย แต่ถึงอย่างไรก็ตามสีของกบจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัย



สำหรับกบที่นิยมนำมาเลี้ยงอีกชนิดหนึ่ง คือ กบบลูฟร็อก ซึ่งกบบลูฟร็อกจะแตกต่างไปจากกบนาอย่างเห็นได้ชัด โดยมีผิวหนังส่วนใหญ่เรียบแต่มีบางส่วนขรุขระและเป็นสีน้ำตาลปนเขียว มีจุดสีน้ำตาล ลักษณะเด่นเห็นชัดคือ มีส่วนหัวที่เป็นสีเขียวเคลือบน้ำตาลและที่ข้างท้องมีลายน้ำตาล ใต้ท้องเป็นสีขาว ขาทั้งสี่เป็นลายดำ ลำตัวอ้วนโดยเฉพาะส่วนท้องใหญ่กว่ากบนา กบที่โตเต็มที่จะมีลักษณะกระเดียดไปทางอึ่งอ่าง ด้วยลักษณะประจำตัวเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้ไม่มีกบชนิดนี้วางจำหน่ายทั้งตัวในตลาดสด เพราะนอกจากจะมีลักษณะไม่ชวนให้ซื้อหามาประกอบอาหารแล้ว รสชาติของเนื้อกบบลูฟร็อก ยังมีคุณภาพสู้กบนาไม่ได้อีกด้วย ส่วนลักษณะกบตัวผู้นั้นจะมีแก้วหูใหญ่อยู่ด้านหลังตาและใหญ่กว่าตา กบบลูฟร็อกตัวผู้ทุกพันธุ์ใต้คางจะเป็นสีเหลืองส่วนกบตัวเมียจะเห็นวงแก้วหูเล็กกว่าตา สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงกบบลูฟร็อกจะต้องคำนึงถึงตลาด ถ้าท่านไม่มีตลาดต่างประเทศรองรับ หรือไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศ ควรเลี้ยงกบนา ซึ่งมีตลาดทั้งในและนอกประเทศ อีกทั้งระยะเวลาเลี้ยงยังน้อยกว่าอีกด้วย



การเพาะพันธุ์กบ



การเตรียมพ่อ - แม่พันธุ์กบนา สามารถทำได้ 2 วิธี คือ



1. รวบรวมจากธรรมชาติหรือหาซื้อจากแหล่งเพาะเลี้ยงกบอื่นๆ ที่เชื่อถือได้



2. พ่อ - แม่ พันธุ์จากที่เลี้ยงไว้เพาะพันธุ์ขึ้นเอง



2.1ทำการคัดเลือกกบเพศผู้ เพศเมียที่มีสุขภาพสมบูรณ์ และมีอัตราการเจริญเติบโตปกติ สม่ำเสมอ มีรูปร่างสมส่วนตามสายพันธุ์ ไม่มีบาดแผลตามลำตัว และปราศจากโรค



2.2 การเลี้ยงเพื่อทำพ่อ - แม่พันธุ์ ควรเลี้ยงแยกเพศ และสามารถแยกเพศได้โดยการดูลักษณะเพศจากภายนอก ซึ่งโดยทั่วไปกบเพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่ากบตัวเมีย มีกล่องเสียงอยู่ใต้คางทั้ง 2 ข้าง ในกบเพศเมียจะไม่มีสีบนลำตัว เพศผู้จะมีสีเหลืองอ่อนๆ หรือสีเหลืองที่ใต้ขา เด่นชัดกว่าเพศเมีย



2.3 ระหว่างการเลี้ยงเพื่อทำพ่อ - แม่ พันธุ์ควรมีการเสริมวิตามินต่างๆ เช่น วิตามิน C D E และวิตามินรวมอื่นๆ เพื่อป้องกันการเกิดโรค และช่วยการพัฒนารังไข่และน้ำเชื้อให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังควรที่จะต้องมีการขับถ่ายพยาธิด้วยอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อกำจัดโปรโตซัวบางชนิด ซึ่งบางครั้งกบที่เลี้ยงนี้อาจมีการติดเชื้อโปรโตซัวในทางเดินอาหารและถ้าเป็นติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะทำให้กบตายได้



2.4 อัตราที่ปล่อยเลี้ยง 30 ตัวต่อตารางเมตร



2.5 ภายในบ่อควรใส่วัสดุสำหรับเป็นที่หลบซ่อน



2.6 พ่อ - แม่ พันธุ์ที่พร้อมและสมบูรณ์เพศ ควรมีอายุตั้งแต่ 1 - 2 ปี



การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์



1. ล้างทำความสะอาดบ่อเพาะพันธุ์ก่อนที่จะทำการเพาะด้วยด่างทับทิมเข้มข้น 10 ppm แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง จากนั้นล้างทำความสะอาดให้หมด



2. เติมน้ำสะอาดใส่บ่อให้ลึกประมาณ 5 - 7 ซม. และไม่ควรให้ระดับน้ำสูงเกินไปกว่านี้เพราะไม่สะดวกในการที่กบตัวผู้จะโอบรัดตัวเมียขณะที่กบตัวเมียเบ่งไข่ออกมาจากท้อง มันจะต้องใช้ขาหลังยันที่พื้น ถ้าน้ำลึกมากขาหลังจะยันพื้นไม่ถึงและจะลอยน้ำทำให้ไม่มีพลัง เป็นเหตุให้ไข่ออกมาไม่มาก



3. เตรียมฝนเทียม โดยทั่วไปกบจะจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน แต่สำหรับการเพาะพันธุ์ เราจะทำให้เหมือนธรรมชาติ ด้วยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งทำได้โดยการนำเอาท่อ PVC ขนาด 1/2 นิ้ว มาเจาะรูเล็กๆ ตามท่อต่อน้ำไปและให้น้ำไหลออกได้คล้ายฝนตก และนำท่อน้ำฝนเทียมนี้ไปพาดไว้บนปากบ่อหรือหลังคาคลุมบ่อและเปิดใช้เวลาที่จะทำการผสมพันธุ์กบ



การคัดพ่อ - แม่พันธุ์



1. แม่พันธุ์ตัวที่มีไข่ส่วนท้องจะขยายใหญ่ และจะมีปุ่มสากข้างลำตัวที่ 2 ข้าง เมื่อเราใช้นิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ และแม่พันธุ์ตัวที่พร้อมมากจะมีปุ่มสากมาก แต่เมื่อไข่หมดท้องปุ่มสากนี้ก็จะหายไป



2. การคัดเลือกพ่อพันธุ์ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะส่งเสียงร้องเสียงดังและกล่องเสียงที่ใต้คางก็จะพองโปน ลำตัวจะมีสีเหลืองเข้มและเมื่อเราใช้นิ้วสอดที่ใต้ท้อง มันจะใช้เท้าหน้ากอดรัดนิ้วเราไว้แน่น



การผสมพันธุ์



1. ปล่อยพ่อ - แม่ พันธุ์ลงไปในบ่อที่เตรียมไว้แล้ว โดยใช้อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย จำนวน 1 : 1 ต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. และจะต้องทำการปล่อยให้กบผสมกันในตอนเย็น



2. เมื่อปล่อยกบลงไปแล้วจึงเปิดฝนเทียมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้กบจับคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลา ประมาณ 17.00 - 22.00 น. ซึ่งภายในบ่อเพาะต้องมีท่อให้น้ำล้นออกด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินไป



3. กบจะจับคู่ผสมพันธุ์และจะปล่อยไข่ตอนเช้ามืด



การลำเลียงไข่กบจากบ่อผสมไปบ่ออนุบาล



1. หลังจากกบปล่อยไข่แล้วในตอนเช้าจะต้องทำการจับกบขึ้นไปใส่ไว้ในบ่อเดิม จากนั้นจะค่อยๆ ลดน้ำในบ่อลงโดยใช้วิธีเปิดวาวล์ที่ท่อระบายน้ำ และใช้สวิงผ้านิ่มๆ รองรับไข่ที่ไหลตามน้ำออกมาโดยขณะที่น้ำลดนั้นต้องคอยใช้สายยางฉีดน้ำไล่ไข่ออกมาโดยจะต้องทำเบาๆ และควรทำด้วยความระมัดระวังไม่ให้ไข่แตกและจะต้องทำการลำเลียงไข่ในตอนเช้า ขณะที่ไข่กบยังมีวุ้นเหนียวหุ้มอยู่



2. นำไข่ที่รวบรวมได้ไปใส่บ่ออนุบาลโดยใช้ถ้วยตวงตักไข่ โรยให้ทั่วๆ บ่อ แต่ต้องระวังไม่ให้ไข่กบซ้อนทับกันมาก เพราะจะทำให้ไข่เสียและไม่ฟักเป็นตัว เนื่องจากขาดออกซิเจน



3. ระดับน้ำที่ใช้ในการฟักไข่ประมาณ 7 - 10 ซม. ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน 24 ชม.
> Credit : วิธีสร้าง WelCome Page บน Blogger Under Creative Commons License: Attribution