วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Mahidol stimulation technique I found shrimp eggs. ม.มหิดล พบเทคนิคกระตุ้นแม่กุ้งกุลาดำวางไข่


ม.มหิดล พบเทคนิคกระตุ้นแม่กุ้งกุลาดำวางไข่




 กุ้งกุลาดำเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำนอกจากสร้างรายได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยง ก่อให้เกิดอาชีพและการจ้างงานในชนบท และเป็นสินค้าส่งออกติดอันดับ 1ใน 10 ของสินค้าที่นำรายได้เข้าประเทศมากที่สุด โดยแต่ละปีสามารถนำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท  


  มหาวิทยาลัยมหิดลพบเทคนิคใหม่ในการกระตุ้นให้แม่กุ้งกุลาดำวางไข่ โดยการใช้สารชีวโมเลกุลเพื่อกระตุ้นการพัฒนารังไข่ของกุ้งกุลาดำแทนวิธีการตัดก้านตาซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรใช้กระตุ้นการทำงานของรังไข่ในแม่พันธุ์กุ้งในปัจจุบัน แต่การตัดตาส่งผลให้แม่พันธุ์บอบช้ำ ไม่สามารถนำกลับมาผลิตลูกกุ้งซ้ำหลายครั้ง อีกทั้งเป็นการทรมานสัตว์ รวมทั้งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการผลิตลูกกุ้งกุลาดำ

  ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล ดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี ประจำปี ๒๕๕๔ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นผู้ศึกษาลักษณะและหน้าที่ของฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนาของรังไข่จากกุ้งกุลาดำ

โดยได้ทำการโคลนนิ่งยีนที่สร้างฮอร์โมนดังกล่าวจากแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำต้นแบบ แล้วใช้ข้อมูลของยีนนั้นมาสร้างสารชีวโมเลกุลที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารังไข่ ด้วยวิธีการฉีดสารชีวโมเลกุลเข้าไปในแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากธรรมชาติและแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากบ่อเลี้ยง จากเทคนิคดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารังไข่และประสบความสำเร็จในการวางไข่ได้ดีในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่ถูกกระตุ้นการพัฒนารังไข่โดยการตัดตา 

“ปัจจุบันกุ้งกุลาดำเป็นที่ต้องในตลาดระดับพรีเมี่ยม เนื่องจากมีรสชาติดี และสีสวยเมื่อนำไปประกอบอาหาร ดังนั้นเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกุ้งกุลาดำควบคู่กับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งออกกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืนในอนาคต

“การฉีดสารกระตุ้นให้แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำมีการพัฒนารังไข่ได้โดยไม่ต้องตัดก้านตา หากมีการทดลองจนได้ผลดี ก็จะสามารถกระตุ้นให้แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำมีการพัฒนารังไข่ได้หลายครั้งตามที่ต้องการ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด เป็นการช่วยลดปริมาณการใช้แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากธรรมชาติ รวมถึงแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำในบ่อเลี้ยง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการผลิตลูกกุ้งกุลาดำ 

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางอ้อมในการเก็บรักษาแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ ไม่ให้โทรมและตาย เนื่องจากการเร่งการพัฒนารังไข่และวางไข่โดยวิธีตัดตา จนกระทั่งสามารถตรวจสอบได้ว่าลูกกุ้งกุลาดำที่ผลิตได้นั้นเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรง โตไว เหมาะสมที่จะนำแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งกุลาดำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำของประเทศให้ยั่งยืนในระยะยาว และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อีกทางหนึ่ง” ดร. สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล กล่าว
> Credit : วิธีสร้าง WelCome Page บน Blogger Under Creative Commons License: Attribution