วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จัดการฟาร์มสัตว์น้ำด้วยเซ็นเซอร์


อควาเซ้นส์ : จัดการฟาร์มสัตว์น้ำด้วยเซ็นเซอร์ - ฉลาดคิด

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน 2555 เวลา 00:00 น.


เร่งพัฒนารองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนกันถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ภาคการ เกษตร ที่ยุคนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างเช่น นวัตกรรมใหม่ “อควาเซ้นส์” ระบบตรวจสอบและควบคุมฟาร์มสัตว์น้ำ ด้วยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ผลงานของบริษัทจีโอมูฟ จำกัด




















“นางสาวรัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์” ผู้บริหารของบริษัทจีโอมูฟ บอกว่า จากการที่ได้ทำงานด้านระบบเซ็นเซอร์และนำไปประยุกต์ใช้กับงานด้านการเกษตร พบว่าจะนำมาซึ่งข้อมูล และคุณภาพที่ดีของผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ซึ่งปัจจุบันปัญหาสำคัญของการเลี้ยงสัตว์น้ำก็คือ สัตว์น้ำมีการรับรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำที่ไวมาก ทำให้เมื่อสภาพน้ำหรืออุณหภูมิเปลี่ยน อาจทำให้สัตว์น้ำตายยกบ่อหรือเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปได้ นอกจากนี้หากจะทำตลาดต่างประเทศ หรือส่งขายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ก็จำเป็นต้องมีใบรับรองรูปแบบการปฏิบัติทางประมงที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ หรือ GAP จากกรมประมงอีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคมีความใส่ใจต่อเรื่องของความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น

จากปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนา “ระบบตรวจสอบและควบคุมฟาร์มสัตว์น้ำ” หรือ “อควาเซ้นส์”  (AquaSense) ขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์แบบเรียลไทม์ มีการเก็บข้อมูลกิจกรรมด้วยภาพ และรวมระบบบริหารจัดการฟาร์มสัตว์น้ำที่เป็นไปตามรูปแบบการปฏิบัติการทางการประมงที่ดี

รัสรินทร์ บอกว่า การผลิตสัตว์น้ำบนข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ จะช่วยลดความเสียหายจากการที่สภาพน้ำไม่เหมาะสม ช่วยเพิ่มคุณภาพ และปริมาณของผลผลิต รวมทั้งสะดวกต่อการขอรับใบรับรอง GAP จากทางกรมประมง เพื่อการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

สำหรับระบบ “อควาเซ้นส์” ถือเป็นนวัตกรรมที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ ซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรม และความรู้ด้านการเกษตรเข้าด้วยกัน โดยมีเทคโนโลยีหลักในการบริหารจัดการเซ็นเซอร์ ที่ชื่อว่า “คลาวด์เซ้นส์” (cloudSense) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการระบบเซ็นเซอร์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การสื่อสารกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ การตั้งค่าอุปกรณ์ การบริหารจัดการข้อมูล ไปจนถึงการแสดงผล

ระบบเซ็นเซอร์จะถูกพัฒนาขึ้นเป็นอุปกรณ์สำเร็จรูปโดยเฉพาะ ติดตั้งในอุปกรณ์ทุ่นลอยน้ำ ใช้กระแสไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ เซ็นเซอร์จะตรวจสอบและควบคุมสภาพน้ำ เช่น ค่าความเป็นกรด-ด่าง ค่าออกซิเจน รวมถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

มีระบบแจ้งเตือน เมื่อสภาพน้ำไม่เป็นไปตามที่กำหนด โดยจะทำการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลฟาร์ม สามารถปรับเปลี่ยนการควบคุมได้ตามแต่สถานการณ์ เช่น การเพิ่มค่าความเป็นกรดเป็นด่างเป็น 10 เป็นเวลา 3 ชั่วโมงเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด

ทั้งนี้ “อควาเซ้นส์” จะทำให้การตรวจสอบคุณภาพน้ำในฟาร์มสัตว์น้ำ มีประสิทธิภาพและสะดวกขึ้น เมื่อมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ดี จะทำได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ นำมาซึ่งราคาที่ดีขึ้น รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ

สำหรับการทำตลาดนวัตกรรมดังกล่าว คุณรัสรินทร์ บอกว่า นอกจากฟาร์มสัตว์น้ำในประเทศไทยแล้ว สามารถที่จะทำตลาดต่างประเทศ ในภูมิภาคนี้ได้

เพราะไม่เพียง ประเทศไทยจะเป็นครัวโลกเท่านั้น แต่เรายังสามารถเป็นผู้นำเพื่อการส่งออกเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดเสรีการค้าในประชาคมอาเซียน ในอีก 3 ปีข้างหน้า.
นาตยา  คชินทร
nattayap.k@gmail.com
> Credit : วิธีสร้าง WelCome Page บน Blogger Under Creative Commons License: Attribution